ค่ายหมอยาสร้างเสริมสุขภาพและเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 14

“ค่ายหมอยาสร้างเสริมสุขภาพและเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 14” มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยมีรายละเอียดแผนการดำเนินงานดังต่อไปนี้

1.กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน

กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน รวมถึงเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ควบคู่ไปกับการจัดเก็บข้อมูล ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในด้านต่างๆ เช่น วิธีการบริหารยาที่ถูกต้อง การใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ โครงการนี้ยังจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคม และเป็นเภสัชกรบริบาลที่ดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมแบบครอบครัว โดยแบ่งกลุ่มชาวค่ายออกไปลงชุมชนและพูดคุยกับชาวบ้านธาตุน้อยในช่วงเย็นของทุกวัน มีการเก็บข้อมูลสุขภาพของชาวบ้านในรูปแบบของแบบสำรวจสุขภาพ เช่น ความเข้าใจในการใช้ยา การจัดเก็บยา การใช้ยาสมุนไพร และเก็บข้อมูลชาวค่ายเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ชุมชน มีการสะท้อนถึงปัญหาที่ได้พบในชุมชน รวมถึงร่วมกันเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนและฝึกให้นิสิตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ได้มีประสบการณ์ในการคิดแก้ไขปัญหาจากชีวิตจริง นอกจากนี้ นิสิตนักศึกษาและคนในชุมชนจะได้มีปฏิสัมพันธ์ มีการพบปะพูดคุยกันมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุคลายเหงา มีสุขภาพจิตดี และมีแรงกระตุ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น

2.กิจกรรมในโครงวันเด็ก

กิจกรรมในโครงวันเด็ก เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนโรงเรียนบ้านธาตุน้อย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเช้า โดยจะมีการแบ่งกลุ่มออกเป็นนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมต้น

ระดับชั้นอนุบาลและประถมต้น จะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขอนามัย เช่น ฐานสอนการแปรงฟันและการล้างมืออย่างถูกต้อง กิจกรรมพัฒนาทักษะทางด้านจินตนาการ เช่น ฐานปั้นแป้งโดว์ ฐานระบายสีปูนปลาสเตอร์ ฐานพับกระดาษ ฐานประดิษฐ์ภาพจากของเหลือใช้ รวมถึงกิจกรรมเพื่อการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ฐานแยกขยะรีไซเคิล เป็นต้น

ระดับชั้นประถมปลาย จะมีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น กิจกรรม Science Show การสร้างภูเขาไฟจำลอง อินดิเคเตอร์จากสารธรรมชาติ วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย การทำเครื่องกรองน้ำจากชั้นหิน ดิน ทราย การทำสบู่ และกิจกรรมสีเริงระบำ เป็นต้น
ระดับชั้นมัธยมต้น จะมีการจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษา แนะแนวเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับบุหรี่ เช่น การป้องกันตนเองจากการสูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่ เป็นต้น

โดยจะแบ่งนักเรียนออกเป็นระดับชั้นต่างๆ และเริ่มเข้าฐานกิจกรรมเพื่อทำกิจกรรม จากนั้น จะมีกิจกรรมนันทนาการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนไทยห่างไกลบุหรี่ โดยจะแบ่งช่วงออกเป็นช่วงของการเล่นเกมที่มีการสอดแทรกความคิดที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ การแสดงละครที่มีเนื้อหาที่สะท้อนถึงช่วงชีวิตแต่ละวัยของผู้สูบบุหรี่(ตัวละครหลัก) ตั้งแต่สาเหตุและแรงจูงใจในการเริ่มต้นสูบบุหรี่ แสดงให้เห็นถึงโทษของบุหรี่มีต่อตนเองและคนรอบข้าง ทั้งในด้านร่างกาย เศรษฐกิจ และสังคม เช่น แสดงให้เห็นถึงโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เปรียบเทียบความแตกต่างทางด้านร่างกายระหว่างผู้สูบบุหรี่และไม่ได้สูบบุหรี่ การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมถึงเงินที่เสียไปจากการซื้อบุหรี่มาสูบ เป็นต้น

กิจกรรมการระดมสมอง(Brainstorm) โดยรวบรวมเด็กนักเรียนทุกระดับชั้น ยกเว้นระดับชั้นอนุบาล เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักป้องกันตนเองจากการเป็นผู้สูบหน้าใหม่ เข้าใจถึงโทษของการสูบบุหรี่ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้คนในครอบครัวได้

3. กิจกรรมการเดินขบวนรณรงค์ป้องกันและควบคุมการบริโภคเหล้าและยาสูบ

กิจกรรมการเดินขบวนรณรงค์ป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนกิจกรรมในโครงนิทรรศการ 1 วัน มีจุดประสงค์เพื่อเดินขบวนรณรงค์ป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบ ประกอบกับการเชิญชวนชาวบ้านมาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงนิทรรศการ โดยมีการแบ่งชาวค่ายเป็นกลุ่มเพื่อลงไปพูดคุยและเชิญชวนชาวบ้านมาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงนิทรรศการในวันถัดไป

4. กิจกรรมในโครงนิทรรศการ

กิจกรรมในโครงนิทรรศการ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวบ้านธาตุน้อย โดยจะมีการจัดตรวจคัดกรองสุขภาพของชาวบ้านธาตุน้อย ซึ่งได้ประสานงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อจัดโครงนิทรรศการเพื่อสุขภาพ ให้ความรู้และคำแนะนำต่างๆตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ โดยมีการจัดบอร์ด ติดโปสเตอร์ และแจกเอกสารความรู้หรือแผ่นพับให้แก่ชาวบ้าน ปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกหลานเพื่อเสริมสร้างชุมชน โดยหัวข้อของโครงนิทรรศการเพื่อสุขภาพ

5. กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ภายในโรงเรียนที่มีความขาดแคลน ส่งเสริมการสร้างสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ต่างสถาบัน

6.กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวค่าย

เพื่อให้ชาวบ้านและชาวค่ายมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นการเรียนรู้กันและกันของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น กีฬาระหว่างชาวบ้านและชาวค่ายพาแลง(รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน)