อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปี พ.ศ. 2497
ประวัติอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์
อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เป็นบุตรชายของคุณโกศลและคุณอิ่มเอม ปังศรีวงศ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ด้านการศึกษาจบ Pharmaceutical Chemist Bachelor of Science in Pharmacy ที่ University of the Philippines และเป็นเภสัชกรไทยท่านแรก ที่สำเร็จปริญญาโทเภสัชศาสตร์จากต่างประเทศ โดยจบ Master of Science in Pharmacy จาก Philadelphia College of Pharmacy and Science การที่อาจารย์เกษม จบจากต่างประเทศทำให้ท่านมีกระบวนการคิด วิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างและมองการณ์ไกล
ในปี พ.ศ. 2479 ขุนเภสัชการโกวิทได้เชิญอาจารย์เกษม ให้ช่วยสอนนิสิตเภสัชฯ แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นเป็นห้องเล็กๆ สองห้องอยู่ติดกับห้องผสมยา และจ่ายยาของโรงพยาบาลศิริราช คณาจารย์ที่สอนมีหลายท่านคือขุนเภสัชการโกวิท ศาสตราจารย์จำลอง สุวคนธ์ ศาสตราจารย์ชลอ โสฬสจินดา เภสัชกรบุญช่วย พันธุศิริ และ เภสัชกรสมโพธิ กิจสุวรรณ ส่วนนิสิตมีเพียง 4 คน การศึกษาในเวลานั้นเป็นเพียง ขั้นประกาศนียบัตร ใช้เวลาศึกษาเพียง 3 ปี
ในปี พ.ศ. 2480 ศาสตราจารย์ชลอ อาจารย์เกษม และเภสัชกรอาวุโสอีกหลายท่านได้ปรึกษากันว่าการเรียนเภสัชฯ ถ้าอยู่ในห้องแคบๆ สองห้องอย่างนี้ก็ไม่มีวันที่จะก้าวหน้า ควรจะขยายหลักสูตรให้ไปถึงขั้นปริญญา และควรมีตึกเรียนของแผนกอิสระ เภสัชกรรมศาสตร์โดยเฉพาะ ศาสตราจารย์ชลอ อาจารย์เกษมและเภสัชกรอาวุโสบางท่านได้ไปพบ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เพื่อขอให้ท่านช่วยติดต่อกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือปรับปรุงแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ ให้เจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็ได้ยื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) และท่านรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ โดยเล่าถึงความเป็นไปของ เภสัชกรรมในเวลานั้น และขอให้ปรับปรุงแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์โดยแต่งตั้ง ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นหัวหน้าแผนกฯปรากฏว่าทางรัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี และแต่งตั้ง ดร.ตั้ว ลพานุกรม มาเป็นหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ อาจารย์เกษม และคณาจารย์ยื่นหนังสือถึงมหาวิทยาลัยขอขยายหลักสูตรเป็น 4 ปี และผู้เรียนจบก็ได้ปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต ขอสีเขียวมะกอกเป็นสีประจำแผนก และของบประมาณสร้างตึกเรียน ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติตามที่ขอ อาจารย์เกษม เลือกศึกษาวิชาเภสัชอุตสาหกรรมทั้งๆ ที่ประเทศไทยเวลานั้นยังไม่มีโรงงานผลิตยาขั้นอุตสาหกรรมแม้แต่โรงเดียว การผลิตยาในประเทศไทยขณะนั้นยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรมในครอบครัวคือผลิตยาตำรับลับออกขายในห้องผลิตยาหลังร้านขายยาเท่านั้นส่วนในยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตยา ผลิตยาสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ออกส่งจำหน่ายไปทั่วโลก ประเทศไทยเป็นตลาดยาเสรีแห่งเดียวในโลกที่ยอมให้นำเข้ายาสำเร็จรูปแทบทุกประเภท ในขณะที่ประเทศต่างๆ กีดกัน และจำกัดยาต่างประเทศ ต้องใช้เฉพาะยาที่เขาผลิตได้เองเท่านั้น


อาจารย์เกษม เลือกศึกษาวิชาเภสัชอุตสาหกรรมเพื่อที่จะจัดทำหลักสูตรวิชาเภสัอุตสาหกรรม เพื่อผลิตเภสัชกรให้สามารถออกไปดำเนินการผลิตยาขั้นอุตสาหกรรมได้ อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์จำลอง กลับเป็นผู้จัดทำหลักสูตร และสอนวิชาเภสัชอุตสาหกรรมแทนอาจารย์เกษม เนื่องจากอาจารย์เกษม ต้องรับภาระดำเนินธุรกิจของครอบครัว แต่ท่านก็ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนในแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศได้พัฒนาอย่างแท้จริง อาจารย์เกษมตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัทเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดโรงงานเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม ขึ้นในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2502 นับเป็นบริษัทยาแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐบาล และเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทเมอร์คฯในภาคพื้นเอเซียที่ผลิตเวชภัณฑ์เต็มรูปแบบ
อาจารย์เกษม และคุณพิชัย รัตตกุลได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมไทยผลิตยาแผนปัจจุบันเพื่อดำเนินการด้านเภสัชกรรม ให้มีคุณภาพอยู่ในระดับมาตรฐาน เป็นการยกระดับวิชาชีพ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างผู้ผลิต และจำหน่ายผลผลิตเภสัชกรรม อาจารย์เกษมเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อสมาคมฯ เป็น “สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน” (TPMA)
อาจารย์เกษมยังได้เข้าไปช่วยงานเภสัชกรรมสมาคมฯ และได้รับเลือกเป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ในปีพ.ศ. 2489
อาจารย์เกษม พยายามมองหาโอกาสที่เภสัชกรจะสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ โดยท่านเข้าไปช่วยงานสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยรับตำแหน่งกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคฯตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – พ.ศ. 2519 และรับตำแหน่งอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ ระหว่าง พ.ศ. 2503 – พ.ศ. 2507


นอกจากนี้ ท่านยังเข้าไปช่วยงานมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2507โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิฯมากกว่าสิบสมัย ท่านมีบทบาทสำคัญในการหาเงินทุนสำหรับการดำเนินกิจการของมูลนิธิฯอันได้แก่การส่งเสริมกิจการทางประสาทวิทยา และวิชาการที่เกี่ยวข้องทุกสาขา รวมทั้งช่วยเหลือกิจการค้นคว้า ป้องกันรักษา สงเคราะห์ผู้ป่วยทางประสาท และสมองพิการทุกประเภท
ด้วยผลแห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นระยะเวลายาวนาน อาจารย์เกษม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปี พ.ศ. 2497



